บันทึกย่อพ่อเทศน์ เรียนอิสระฯ FMTV สันติฯ
ส. ๒๑ เม.ย. ๒๕๕๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง เริ่ม 18:05 น.
ตอน “สัญญากำหนดรู้ฌานสมาบัติแบบพุทธ”
คลิปฯ รายการ "เรียนอิสระตามสำนึก" โดยพ่อครูสมณะโพธิรักษ์
ออกอากาศสดจาก fmtv สันติอโศก/กรุงเทพฯ วันที่ 21 เมษายน 2555
ตอน สัญญากำหนดรู้ฌานสมาบัติแบบพุทธ(สัญญา ๑๐ )
- พ่อท่านว่า จัดรายการคนเดียวก็ได้ ไปมาคนเดียวได้โดยไม่กลัวผีแล้ว เพราะรู้จักผีดี วันนี้จะบรรยายเรื่องสัญญา ๑๐ แต่ก่อนบรรยายจะขอทำความเข้าใจให้คนทั้งหลายที่มี sms มาว่า คือคุณ ๔๗๒๗ เป็นคนที่ไม่มีปรโตโฆสะ ไม่ฟังผู้อื่น จึงท้วงติงมาอีก พ่อท่านเลยเอามาบรรยายให้เป็นประโยชน์ผู้อื่น เขาว่า ศีล๕ เคร่งเรื่องมุสา ต้องละการนินทาว่ากล่าวผู้อื่น คุยโวโอ้อวดด้วย ต้องเลี่ยงว่าผู้อื่น พ่อท่านว่า มุสากับการดุด่าว่ากล่าวสั่งสอนนี้ต่างกัน แค่นี้หากยังเข้าใจไม่ได้ ก็ยังไม่ไปถึงไหนหรอก
- การเคร่งคือภายนอกก็ไม่ละเมิดไม่พูดปด แต่ภายในหากจิตคุณไม่ละก็ยังไม่บรรลุ เมื่อบรรลุแล้วจะเป็นปกติไม่ต้องระวังอีกเลย คำพูดปด คำหยาบแสดงอาการราคะ โทสะ ก็ถือเป็นคำหยาบ แต่ถ้าสื่อออกมาด้วยคำต่ำๆ แต่เจตนาเพื่อการทักท้วงแรงๆ ให้เกิดผลดี เช่น พระพุทธเจ้าตรัสบริภาษแรง ก็ไม่ใช่คำหยาบเลย และแม้พูดสาระสูงๆ แต่คนอื่นไม่รู้เรื่องด้วยเลย ก็คือเพ้อเจ้อ
- การพูดส่อเสียดล่ะ ก็คือ พูดให้คนทะเลาะกัน ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ แต่คนนี้หาว่าพ่อท่านพูดจาส่อเสียด คนจะรู้ว่าพูดว่าคนอื่นหรือไม่นี้ ก็คือ การว่าแล้วก็กระทบผู้อื่น จริงๆ แล้วก็คือ ไปว่าความไม่ดีของผู้อื่น พูดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ก็ไปโดนใครๆ เข้า ก็เหมือนคนนั้นโดนว่าไม่ดี หากคนว่ากล่าวนั้นไม่มีอารมณ์โกรธอะไรเลย เพียงแต่แสดงธรรมให้รู้จักคนผิด คนชั่ว ว่าด้วยจิตเมตตา แต่การว่านั้นก็ไปโดนคนชนิดนั้นเข้า คนๆ นั้นก็มีอัตตายึดดี ก็ไม่พอใจที่โดนว่า หรือโดนอาจารย์ของตน ก็จะเกิดอัตตา
- และเรื่องลึกซึ้งในการว่ากล่าวนั้น คนมีปัญญาย่อมว่ากล่าวในสิ่งที่มีคนทำผิดทำชั่วกันอยู่ หากจะไม่ให้พูดเลย หรือพูดไปแล้วไม่มีใครทำผิดเลย พูดถึงในสิ่งที่ไม่มีใครเป็นเช่นนั้นเลย ก็คงไม่เสียเวลาพูดว่ากล่าวหรอก .... คนที่เพ่งโทษผู้อื่นแล้วอาสวะจะเจริญยิ่ง พ่อท่านไม่อยากให้คุณเป็นผู้เพ่งโทษฟังธรรม ซึ่งมันจะซวย จงเข้าใจความหมายในการพูดว่ากล่าว พูดโอ้อวด ให้ดีๆ การจะยกคนดีให้เกิดการบูชาและเอาอย่างคนดีนั้น ก็จะต้องพิจารณาให้ดี ไม่อยากให้มีการผิดพลาด
- อนิจจสัญญา คือ ความไม่เที่ยง จะบรรยายได้มากได้นานเพราะมีตัวอย่างให้รู้เห็นเยอะ เมื่อพิจารณาละความยึดถือจากอนิจจสัญญาแล้ว ก็ย่อมจะเกิดการพิจารณาเห็นอนัตตสัญญาเอง มันจะไปสู่การเห็นความไม่มีตัวตนได้เอง (พ่อท่านอธิบายไปจนถึง อนัตตาอันจบบริบูรณ์ คือเมื่อพระอรหันต์ท่านไม่ตั้งภพต่อไปอีกแล้ว จบสิ้นโดยอัปปณิหิตวิโมกข์ ปรินิพพานโดยไม่ตั้งจิตอีก)
- พ่อท่านตอบคนที่ทักท้วงเรื่องอานาปานสติ ว่า อย่าว่าแต่จะไปพิจารณาเฉพาะหลังฉันอาหารเลย ทำได้มากกว่านั้นอีก และสามารถพิจารณากายภายนอกและภายในได้อีก ไม่ได้ละทิ้งกายภายนอกเลย ภายนอกก็ย่อมมีจิตที่รู้กิเลส กำหนดรู้ ตามรู้ตามเห็นความไม่เที่ยงแม้จากเรื่องสัมผัสนอก สัมผัสใน เมื่อเห็นสิ่งนี้ไม่เที่ยง จิตของเธอย่อมหมดความยึดมั่นถือมั่น ก็เกิดจากการตามเห็นความไม่เที่ยงนี้เอง (อนิจจานุปัสสี จากสี่ข้อท้ายของอานาปานสติสูตร) ... พ่อท่านยกตัวอย่างการเห็นความเสื่อม ความไม่เที่ยงต่างๆ ทั้งจากรูปอวัยวะภายนอก และแม้แต่รูปอารมณ์ภายใน ต้องกำหนดสัญญาเห็นความไม่เที่ยงนี้แหละ เป็นหลัก
- เห็นความเป็นทุกข์ได้ง่ายกว่าความไม่เที่ยง ส่วนการเห็นความไม่เที่ยงแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละ ที่สูงกว่าเห็นด้วยความเป็นทุกข์ จึงต้องมีอินทรีย์ที่สูงขึ้น พ่อท่านขยายความจากสติ มีอินทรีย์ขึ้นเป็นสัมปชัญญะ ไปสู่การมีปัญญา ไม่ใช่การสอนผิดๆ ที่ให้มีแต่สติแล้วก็ตัด สติรู้นิ่งเฉย แต่ไม่มีการพิจารณา ไม่มีสัมปชัญญะ ไปหาสัมปัชชติ และสัมปัชชลติ เลย ... พ่อท่านไล่เลียงหัวข้อสัญญาต่างๆ ไปจนถึง ๕ ขั้น คือ ปหานสัญญา ที่จะต้องขจัดประหารไปด้วยวิธีต่างๆ ๖.วิราคสัญญา ๗.นิโรธสัญญา ๘.(พ่อท่านไม่ได้ปริ๊นท์ข้อที่ ๘ มา และผมเองก็ค้นหาให้ไม่ทัน และจอไอแผดเองก็หลุดไปจากสัญญาณของผม เพราะสัญญาณ wifi มันเด้งหลุดไปหาตัวอื่นเสียเองหลายที)
- พ่อท่านเลยอธิบายเรื่องนิโรธสัญญาไปหลายนาที เช่น นิโรธสมาบัติที่มิจฉาทิฐิ มีแต่ความดำมืดเป็นสุภกิณณหะ คือ สัญญาที่กำหนดรู้นิโรธนั้น ก็ดับหน้าที่ไม่ทำหน้าที่กำหนดรู้ จึงเป็นวิสัญญี หรืออสัญญี เหมือนผู้สลบไปเท่านั้น จึงเป็นนิโรธที่แตกต่างไปจากนิโรธของพุทธ ที่ผู้รู้ในเมืองไทยก็ยังแยกไม่ออก ยังหลงไปเอาสภาวะแบบดับจิตจนมืดนั้นมาอธิบายว่าเป็นนิโรธของพุทธ พ่อท่านวิจารณ์เขาหากเขาไม่มาเอาอย่างนี้ ก็ไม่ได้บังคับให้มาเชื่อถือ เขาได้ความดับแบบมิจฉาทิฐินั้น ก็ย่อมได้แค่สุภกิณณหะ คือ ได้ความไม่มีแต่ไม่มีแบบมืดๆ คือได้แต่กิณณหะ แต่ไม่ได้นิโรธอันเป็นความหมายแท้ๆ ของพุทธ
- นิโรธของพุทธนั้นย่อมมีการทำซ้ำไปทบทวนมา เข้าไปเข้ามา จนกระทั่งได้อย่างถาวร จนไม่ต้องเข้าๆ ออกๆ อีกเลย เพราะบรรลุหลุดพ้นแล้ว จึงไม่ต้องเข้าอีก ไม่ต้องออกอีก แม้เข้าถึงอยู่อย่างไร ก็มีสติมีสัญญากำหนดรู้สภาวะได้หมด ... บรรลุภาวะแล้วก็ยังสามารถย้อนมาเกิดอย่างเก่าได้อีก
- อาการฌานก็คือเผา คือทำหน้าที่อยู่ เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วก็เรียกว่านิโรธ มีนิโรธตั้งมั่นอยู่จึงเรียกว่าสมาธิ ทั้งฌานทั้งนิโรธและทั้งสมาธิ ก็มีผลเดียวกันคือ ความสงบ แต่อยู่ในสถานะต่างกัน หากคุณไม่ละเอียดก็จะรู้ไม่ลึกซึ้ง และไม่อาจแยกได้ว่าทำอะไรก่อน จึงได้ผลเป็นอะไรก่อน คุณก็จะได้แต่ไปนั่งสะกดจิต ล่อจิตให้หยุด ให้สงบนิ่งเฉยๆ ไม่รู้จักสนามจริงที่มีผัสสะยั่วต่อหน้าจริงๆ จึงไม่ได้พิจารณาเอาจากความจริง
- ปัญญาคือการรู้เห็นกิเลสจางคลายลงไปจริงๆ เห็นความจางคลายได้ เห็นการลดการหมดลงไปได้ ว่า กิเลสมันเหี่ยวลงไปเพราะเราสามารถทำให้มันเหี่ยวลงได้ ปัญญาจึงไม่ใช่ผลของความคิด ที่คิดได้แล้วก็เรียกว่าปัญญาหรอก ...
- ฌานที่ปฏิบัติแผดเผาจึงต้องมาก่อนสมาธิ ไม่ใช่ไปนั่งสมาธิก่อนแล้วจิตจะเป็นฌานอย่างที่เขาสอนกัน ฌานนี้เป็นของพุทธมาก่อน แต่ว่านานไปก็เพี้ยนไปเอาอย่างฌานฤาษี พอพ่อท่านเอามาพูดขึ้น คนเขาก็ไม่ค่อยเชื่อ ... ความสงบของฌานกับความสงบของนิโรธ ก็ย่อมต่างกัน แผดเผาจนดับได้จึงเป็นนิโรธ และจิตที่มีความดับได้แล้วจึงสั่งสมลงเป็นความตั้งมั่น คือเป็นสมาธิแบบพุทธ หากมิจฉาทิฐิแล้วพวกดับก็ไปหามักน้อย ที่ไม่เอาอะไรจนเกินๆ ไม่ใช่มักน้อยแบบอาริยะ ส่วนพวกสว่างก็จะไปหาความมักมาก
- ไฟกิเลสจึงต้องแผดเผาด้วยไฟพิเศษคือ ไฟฌาน อกุศลจิตจึงตายโดยไม่มีซากอะไร แล้วกุศลจิตจึงผุดเกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดโดยผุดเกิดจากการตาย คือ โอปปาติกโยนิ การจะให้ผุดเกิดเช่นนั้น จึงต้องเข้าใจการทำฌานด้วยมรรค๘ ทำไตรสิกขาให้ถูกต้อง หรือจรณะ๑๕ หรือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ให้ครบถ้วน พ่อท่านเจาะอธิบายโพชฌงค์ ๗ ซึ่งในองค์ประกอบนั้นปุถุชนเขาก็มีกัน กระทำกัน เช่น มีสติ แต่ปุถุชนก็ใช้สติมีสติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติแบบอาริยะที่ไปสู่การละล้างจางคลาย จนเกิดตรัสรู้ ธัมมวิจัยนั้น ปุถุชนก็วิจัยคิดค้นหาทางทำชั่วโดยไม่ให้ใครจับได้ วิริยะก็ขยันไปทำความชั่ว ฯลฯ
- ศาสนาพุทธปฏิบัติไปกับไตรสิขา จรณะ๑๕ หรือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ มรรค๗ในมรรค๘ ก็ทำให้สัมมา ให้ตรงต่อสัมมาทิฐิซึ่งเป็นท่านเปาบุ้นจิ้น โดยมีตัวช่วยอีกสอง คือ สติและความพยายาม ที่เป็นหวังเฉาและหม่าฮั่น ช่วยผนึกสามพลังไปเป็นประธานที่ทำให้การปฏิบัติทั้ง ๗ องค์มรรค ให้สำเร็จ พ่อท่านจึงขอขอบคุณที่มีพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ มาช่วยยืนยันว่า การปฏิบัติให้มีสมาธิแบบพุทธนั้น จะต้องมีเหตุทั้ง ๗ กันอย่างไร เมื่อเข้าใจรายละเอียดได้อย่างสมบูรณ์ การปฏิบัติก็ย่อมได้รายละเอียดที่สมบูรณ์ ยิ่งเห็นผลที่ปฏิบัติได้จริง ก็ยิ่งลึกซึ้ง และพ่อท่านก็เห็นอยู่ว่ามีผู้ปฏิบัติได้ผล
- สรุปแล้ว สัญญา ๑๐ประการเป็นไฉน คือ ๑.อนิจจสัญญา ๒.อนัตตสัญญา ๓.อสุภสัญญา ๔.อาทีนวสัญญา ๕.ปหานสัญญา ๖.วิราคสัญญา ๗.นิโรธสัญญา ๘.สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๙.สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑๐.อนาปานัสสติ ฯ (ใน อาพาธสูตร หรือพระสูตรที่ช่วยพระคิริมานนท์ ล.๒๔ ข้อ ๖๐)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น