วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

55-3-16 บันทึกย่อพ่อครูสมณะโพธิรักษ์เทศน์


ก๊อบมาจาก กลุ่ม ทบทวนธรรมะ สมณะโพธิรักษ์
เขียนโดย.. ใจแปลง สู่แดนธรรม

บันทึกย่อพ่อเทศน์ สงครามฯ ตอน.. "การศึกษาที่เกิดบรมภาวะ" 
วันศุกร์ ๑๖ มี.ค. ๒๕๕๕ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ เริ่มเวลา 18:06 น.


ภราดรภาพมีนัยยะละเอียด สังคมใดมีภราดรภาพมากเท่าใด เป็นพี่เป็นน้องกันได้เท่าใด สังคมนั้นจะเกิดสันติภาพมากขึ้นเท่านั้น สังคมใดไม่มีความเป็นมิตรสหาย ไม่เป็นพี่น้อง ก็ย่อมแย่งชิงสมบัติ ชิงลาภ ชิงยศ เบียดเบียนแย่งชิงสรรเสริญกัน ฯลฯ (พ่อท่านครับ วานนี้พ่อท่านได้ยกตัวอย่างหมู่บ้านชาวอโศกไปแล้ว วันนี้พ่อท่านจะสรุปด้วยสาราณิยธรรมและพุทธพจน์๗ แล้วจะอธิบายให้ถึงวิชชาและจรณะ)


วันนี้พ่อท.อธิบายตอกย้ำอีกถึงกระบวนการ "บรมภาวะสุดประเสริฐ ๕ อย่าง" คือ อิสรเสรีภาพ, ภราดรภาพ, สันติภาพ, สมรรถภาพ, บูรณภาพ 

ความมีอิสรเสรีภาพที่บรรลุผลสำเร็จได้ จึงจะเกิดภราดร เกิดสันติภาพจริง เราเกิดอิสรภาพจนเกิดหมู่บ้านที่รวมหมู่คนแสดงพฤติพุทธ อันมีพลังภราดรภาพ เห็นสมรรถภาพที่มีบูรณภาพอยู่เสมอ พ่อท่านนำหลัก ๑๙ ประการแห่งการสรรสร้างการงานมาขยายความให้เข้ากับ สมรรถภาพ 

คือ ๑.มีคนที่ดี ๒.มีงานที่ดี ๓.มีความรู้ความสามารถ(สมรรถนะ) ๔.มีเวลาหรือโอกาส ๕.มีทุนที่เหมาะควร ๖.มีสุขภาพและกำลังที่ดี ๗. มีความขยัน อุตสาหะ บากบั่น (มีพลังสร้างไปเพื่อเกิดประโยชน์ผู้อื่น ไม่ใช่นำมาให้ตนอลังการ) ๘.มีหลัก มีระเบียบ มีเป้าหมาย ๙.มีการจัดสรร และจัดโครงการ ๑๐.มีการแบ่งงาน และประสานเนื่องหนุน 

๑๑.มีกะจิตกะใจ มีความใส่ใจ ขวนขวายไม่ดูดาย (ไม่ใช่ถูกบังคับกะเกณฑ์จนไร้ความเต็มใจ หรือมีจิตต้าน ลดค่าลง ไม่ทำให้ด้วยใจ เศรษฐกิจก็ลดแน่นอน คอมมิวนิสต์จึงไปไม่รอด ศก.แบบพุทธหรือแบบบุญนิยมนี้ จึงเกิดได้จากจิตคนที่มีปัญญาเข้าใจแล้วเสียสละจริงๆ) ๑๒. มีการปรับความเข้าใจกัน ให้เกิดความสามัคคีอยู่เสมอ ๑๓. มีความขัดเกลากันให้ละกิเลส ละข้อบกพร่องอยู่เสมอ ๑๔.มีความเห็นดี ยินดี ๑๕. มีความเห็นจริง ซาบซึ้ง เชื่อมั่น ๑๖. มีสติ ปฏิภาณ ปัญญา ๑๗. มีสมาธิ ฌาน อุเบกขา ๑๘. มีความเสียสละแท้ ๑๙. มีพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (เอกีภาวะที่มีวิมุติเป็นพลัง) 

การขัดเกลาให้เกิดการปรับปรุง จึงเป็นสังขารธรรมที่ดี ที่ทำให้เกิดการพัฒนา ก่อเกิดความเจริญก้าวหน้า การมีพลังรวมกันจนเป็นปึกแผ่นนั้น เกิดได้เพราะเหตุมีพลังวิมุติที่มีพลังพิเศษ 

ใครจะหาว่ามีแต่อุดมการณ์เพ้อฝัน เราก็มีบุคคล มีหมู่บ้านที่มีคนประพฤติแบบไม่มีอบายนี้กันได้แล้ว ไม่มีภัยต่อเพื่อนร่วมโลก มีพุทธพจน์ ๗ ทั้งรู้จักเคารพ เกื้อกูลกัน มีพลังสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีค่ารวมหรือโทนนาลิตี้ที่ไม่มีลักษณะรุนแรงด้วยกาม ด้วยโทสะ ไม่มีจัดจ้าน ไม่มีจัดหนักหรือจัดเต็มแบบสังคมภายนอกที่จัดจ้าน 

คนในชุมชนก็ยินดีเต็มใจเสียภาษีเต็ม 100% คือ ทำงานฟรีให้กับส่วนกลาง ทำไปก็สบาย เพราะเป็นจรณะที่จะต้องประพฤติให้เจริญไปสู่การขัดเกลา ให้มีน้อยลงเรื่อยๆ จนจิตไม่มีกิเลสความเห็นแก่ตัว 

จึงได้คนที่พัฒนามาจนมีอิสรเสรีภาพ ที่หลุดพ้นจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่ดี จึงไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่กุศลให้เต็ม หมดการเรียกร้องให้ตน หมดความเป็นทาสมาบำเรอตนเอง แต่ยินดียินยอมเป็นทาสรับใช้ปวงชน รับใช้มนุษยชาติเต็มที่ นี้แหละคือนักการเมืองที่รับใช้ประชาชนได้จริงๆ 

การเกิดบรมภาวะมีอิสรเสรีภาพได้นี้ จึงเกิดจากการปฏิบัติด้วยหลักวิชชาและจรณะ ๑๕ เน้นการปฏิบัติอยู่ที่อปัณณกธรรม ๓ คือหลักปฏิบัติอันไม่ผิดของพุทธ คือ ๑.สำรวมอินทรีย์ (ลดอินทรีย์หรือลดกำลังของกิเลสลง แล้วจะมีกำลังของกุศลขึ้น) ๒.โภชเนมัตตัญญุตา ที่รู้จักประมาณในการนำอาหารมาเป็นเครื่องยังสัตว์ให้อยู่ได้ (เรียนรู้ไปจนกระทั่งอาหาร๔) พ่อท่านเล่าถึงอาการที่ไม่ได้อยากกินอาหาร สมัยก่อนกินอาหารสองวันต่อมื้อ เคยโหยเพราะร่างกายต้องการ แต่จิตไม่ได้ต้องการ อันคนเรานั้นเคยโง่ถูกหลอกในการกินมานักแล้ว กินอาหารอย่างโง่ๆ เมื่อมาฝึกแล้วจึงได้เพียรที่จะตื่นรู้ คือปฏิบัติในข้อ ๓.ชาคริยานุโยคะ 

จิตมีอิสรเสรีภาพไปตามขั้นตอนของบุคคล (โสดาฯจนถึงอรหันต์) เลิกหลงติดในการปรุงแต่ง ไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกมอมเมา เมื่อหลุดพ้นแล้ว จึงมีความขยันขวนขวายเพื่อคนอื่นได้รับประโยชน์อยู่เสมอ จึงเกิดพลังภราดรภาพกับผู้อื่น และมีสภาวะสันติภาพด้วยสมรรถภาพที่สรรสร้าง ไม่มีจน เพราะบูรณาการอยู่เสมอๆ



ไม่มีความคิดเห็น: