ตอน การปฏิบัติอยู่ป่าที่มิจฉาทิฐิ
บันทึกย่อพ่อเทศน์ วิถีอาริยธรรมฯ FMTV สันติฯ
อา. ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๕ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง เริ่ม 09:06 น.
คลิปรายการย้อนหลัง "วิถีอาริยธรรม"
โดย พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ส.เพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ร่วมดำเนินรายการ
22 เมษายน 2555 ถ่ายทอดสดจาก fmtv กรุงเทพฯ
2. วันนี้พ่อท่านจะอธิบายธรรมเกี่ยวกับ ป่าและการปฏิบัติได้มรรคผล ซึ่งเข้าใจผิดมาแต่แรกแล้วว่า ถ้าจะปฏิบัติก็จะต้องออกไปอยู่ป่าจึงจะได้นิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตอนแรกนั้นพระองค์ก็ทรงทำตามค่านิยมของฤาษี ไปเสียเวลาอยู่ ๖ ปี ซึ่งพ่อท่านเห็นว่าไม่ได้เป็นการปฏิบัติธรรมเลย เป็นเพียงไปชดใช้กรรมเก่าที่เคยเกิดเป็นโชติปาละ แล้วไปกล่าวจาบจ้วงพระกัสสปะพุทธเจ้าเท่านั้น พระองค์ยืนยันเองว่าไม่ได้บรรลุการตรัสรู้โดยวิธีนั้น (ในเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒)
3. พ่อท่านอ่านหนังสือที่เขียนไว้ คือ “ป่ากับพุทธศาสนา” เนื้อแท้เดิมๆ ของพุทธนั้นแทบไม่มีเหลืออยู่เลย มีเพียงชื่อว่าพุทธเท่านั้น พ่อท่านถามพระภิกษุว่าเดี๋ยวนี้มีพระอรหันต์ไหม ส่วนมากก็จะบอกว่าไม่มีแล้วพระอาริยะ นี่แหละคือสิ่งที่เขาเชื่อและแน่ใจว่าไม่มีเนื้อแท้ของพุทธเหลืออยู่แล้ว หรือแม้จะมีใครที่มั่นใจตนเองว่าตนเป็นอรหันต์ พ่อท่านก็จะถามให้แน่ใจว่า จริงแท้แน่ล่ะหรือ ? เพราะนั่นจะเป็นความเข้าใจผิดในศาสนาอย่างมาก ซึ่งพ่อท่านมีความรู้ที่จะบอกว่าอย่างนั้นผิด ก็ไม่ใช่ไปเรียนรู้ธรรมะมาเพียงน้อยนิด แล้วก็ไปบอกว่าเขาผิด แต่ที่บอกได้เช่นนั้น เพราะพ่อท่านมีภูมิเป็นพระโพธิสัตว์ ชาตินี้ไม่เคยไปเรียนปฏิบัติธรรมะมาจากสำนักไหนๆ และไม่ได้อวดอ้างความเป็นอรหันต์
4. พ่อท่านบอกความเป็นพระโพธิสัตว์ ก็มิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้มาเคารพนับถือ (น ชนกุหนัตถัง) มิใช่เพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร (น อิติ มังชโน) มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเพื่อเสียงสรรเสริญ มิใช่เพื่อจะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มไป มิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า.. เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้น พ่อท่านมีสติมีจิตแววไว (มุทุภูตธาตุ) ที่จะรู้ใจตนเองว่า ไม่ได้มีจิตอยากเช่นนั้น การรู้จิตปรุงแต่งคำพูดนั้น มันรู้ไวกว่าการที่จะใช้เวลาประกอบคำพูด(วจีสังขาร)ขึ้นมาเสียอีก ซึ่งวจีสังขารก่อนจะพูดออกมานั้น มันก็ยังช้าไป ช้ากว่าที่จิตจะรู้
5. การรู้จะเริ่มจาก รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง ... ศาสนาพุทธทุกวันนี้มีแต่ชื่อ เหมือนกลองอานกะที่เชือก เนื้อไม้ หนังกลอง เดิมๆ นั้นถูกปรับเปลี่ยนวัสดุไปเป็นของใหม่แล้ว แต่ก็ยังเรียกชื่อเดิมๆ อยู่ พุทธก็เหมือนกันเนื้อแท้ก็เพี้ยนไปแล้ว พ่อท่านตำหนิว่าเช่นนี้ก็ไม่ใช่จะมาทำลายศาสนา แต่เพราะมีปณิธานที่จะทำงานรักษาพุทธศาสนาไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า มีอะไรไหม เป็นไรเป็นกัน (เหมือนชื่อรายการของพลตรีจำลอง จะแพร่ภาพทุกๆ วันอาทิตย์ในช่วงเวลาของ พุทธชีวศิลป์)
6. พ่อท่านอ่านและขยายความสู่ฟัง เรื่อง“การบรรลุธรรม” พระอรหันต์ต้องอยู่ป่าเท่านั้นหรือ ไม่มายุ่งกับผู้คน โดยอ้างพระพุทธเจ้าว่า อยู่ป่าเป็นวัตร อันคือสิงสู่อยู่ป่าเป็นประจำ คำว่าเป็นวัตรนั้น ก็ไม่ใช่ทำเป็นประจำเลย แต่แปลว่าเป็นข้อปฏิบัติเท่านั้น หรือเป็นกิจที่ควรทำ ไม่ได้แปลว่าต้องทำกันทุกคน เช่น อาคันตุกะวัตร ก็คือพอมีอาคันตุกะมาก็จึงได้ประพฤติวัตรนี้สักครั้ง ไม่ใช่กุลีกุจอไปหาอาคันตุกะมาประพฤติวัตร ... พ่อท่านย้ำยืนยันว่า แม้ไม่ได้ประพฤติอยู่ป่าเป็นวัตรเลย ท่านผู้นั้นก็บรรลุอรหันต์ได้
7. ความจริงแท้นั้น ยิ่งเป็นอรหันต์ท่านก็ยิ่งไม่ติดป่าเลย แต่ท่านก็ย่อมยินดีในความเป็นป่า แต่ท่านจึงไม่ต้องต้องอยู่ป่าเพราะมันมีประโยชน์น้อย ท่านจึงไปสู่ชนบทที่มีผู้คนให้สั่งสอน .. พระอุบาลีถามว่า [๑๑๙๑] ภิกษุผู้ถืออยู่ป่ามีเท่าไรหนอแ
ล พระพุทธเจ้าข้า? ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถืออยู่ป่านี้มี ๕ จำพวก. ๕ จำพวกอะไรบ้าง? คือ:
๑. เพราะเป็นผู้เขลา งมงาย จึงถืออยู่ป่า
๒. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ จึงถืออยู่ป่า
๓. เพราะวิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน จึงถืออยู่ป่า
๔. เพราะเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า สรรเสริญ จึงถืออยู่ป่า
๕. เพราะอาศัยความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา ความเงียบสงัด และเพราะอาศัยความเป็นแห่งการอยู่ป่ามีประโยชน์ ด้วยความปฏิบัติงามนี้ จึงถืออยู่ป่า
8. อีกพระสูตรหนึ่ง ล.๒๔ ข.๙๙ ว่าด้วยคุณธรรมของภิกษุผู้จะไปอยู่ป่า ดังนี้ พระอุบาลีปรารถนาจะไปอยู่ป่าและ
ราวป่าอันสงัด พระพุทธองค์ตรัสว่า... ป่าและราวป่าอันสงัดอยู่ลำบาก
ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว. ป่าทั้งหลายเห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน เปรียบเหมือนกระต่ายหรือเสือปลาลง สู่ห้วงน้ำใหญ่ หวังจะเอาอย่างช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง กระต่ายหรือเสือปลานั้น จำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลง หรือจักลอยขึ้น
9. ในห้าจำพวกนั้น ก็มีเหลวไหลถึง๔พวก พวกที่หนึ่งนั้นหลงไปอยู่ป่าด้วยความโง่เขลา งมงาย บวชเป็นพระธุดงค์เลยต้องออกป่าดง แล้วก็เอาประสบการณ์อันลำบากมาพูดคุย ให้คนหลงขลังว่าเป็นความสามารถทางพุทธ ธรรม เป็นพระเกจิเก่งคาถาอาคม นี้แหละคือความโง่เขลางมงาย ที่มีคนเคารพนับถือ น่าสงสารพุทธศาสนา พ่อท่านว่าท่านเกจิทั้งหลายที่ฟังอยู่นี้ ไม่กล้าเถียงอาตมาหรอก ปัจจุบันนี้พ่อท่านแก่พรรษาแล้วจึงไม่ต้องเกรงเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีใจปรารถนาดีต่อศาสนา ... ฯลฯ
10. จำพวกที่สอง เป็นผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ จึงถืออยู่ป่า คำว่าลามกก็คือมีกิเลสตัณหา ปรารถนาทำการอะไรโลภมากได้ตามใจ ยิ่งมีคนเข้าไปนับถือ ก็ยิ่งหลงปรุงแต่งสร้างก่อบานปลาย ออกนอกพุทธศาสนาไปมาก มีศีลเคร่ง ทำให้ขลังเข้าไว้ ทำไปเพื่อให้มีคนนับถือสรรเสริญ พ่อท่านจำแนกพฤติกรรมที่มีความปรารถนาลามก ให้ละเอียดขึ้น เพื่อสอนชาวอโศกเรา ให้อ่านจิตอ่านใจตัวเองให้เป็น ผู้มีภูมิจิตเป็นอนาคามีและอรหัตตมรรคแล้ว จึงควรออกไปอยู่ป่าเพื่อประพฤติวัตร เพื่อตรวจสอบอาสวะที่ยังเหลือเศษอยู่ว่า จะจม หรือจะลอย (ซึ่งหากบรรลุอรหันต์แล้ว จะออกจากป่า คือไม่ติดจมอยู่ในป่าเลย เพราะอยู่ป่าทำประโยชน์ได้น้อย)
11. พ่อท่านอ่านจำพวกที่ ๔ ว่า เพราะเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า สรรเสริญ จึงถืออยู่ป่า พ่อท่านอ่านอธิบายเพิ่มอีกว่า ประชาชนก็ยังหลงอีกว่า การปฏิบัติจะต้องไปอยู่ป่าเท่านั้น จึงจะบรรลุมรรคผล ถ้าไม่ได้อยู่ป่าก็ไม่ถือว่าเป็นพระปฏิบัติ แล้วพ่อท่านขอถามประชาชนว่า อาตมาพูดแบบนี้ถือว่ากล่าวตู่ประชาชนไหม ... (แวะไปเรื่องอื่นสักครู่)
12. พ่อท่านวิจัยว่า ผู้ที่หลงไปปฏิบัติอยู่ป่า ก็อยู่ไปโดยไม่เข้าใจว่า จะต้องไปอยู่ทำไม จะอยู่นานแค่ไหน อยู่ปฏิบัติอย่างไร ฯลฯ ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาฤาษีที่จะต้องอยู่ป่าเป็นหลักเลย วิถีหลักหรือแนวทางปฏิบัติสำคัญของพุทธนั้น ไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่า จะต้องไปหาป่าสงบเงียบๆอยู่ปฏิบัติ แต่พระองค์สอนให้ปฏิบัติด้วยมรรคทั้ง ๗ องค์ จนสั่งสมลงเป็นสัมมาสมาธิ จนมีจิตตั้งมั่น พระโสดาบันก็มีจิตแข็งแรงตั้งมั่น ที่สามารถอยู่ปะปนกับโลกอบายเสื่อมๆ ได้ เพราะจิตอยู่เหนือการยั่วยวนนั้นๆ แล้ว ไม่ได้หลีกหนีไปไหนเลย ก็ยังอยู่คลุกคลีกับมันนี่แหละ แต่จิตท่านแข็งแรงตั้งมั่น ไม่สสังขารดูดดึง จิตไม่เคลื่อนไม่ไหว
แต่คนที่เอาแต่นั่งหลับตา ยึดติดแต่สิ่งสงบเงียบสบายๆ ในป่า หากออกจากป่าไปสู่เมือง เจอแสงสีเสียงปรุงแต่งจัดๆ เข้า เขาก็จะเวียนหัว รับไม่ได้เลย ต่างกันไกลยังกะ 180 องศายืด ท่านจั.เสริมว่า ฟ้ากับดินไกลกัน แต่ธรรมะของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษนั้น ก็ยิ่งไกลกัน ... สมาธิของพุทธนั้น ไม่ใช่จะต้องมัวไปหาสถานที่สงบสงัดเงียบๆ อย่างนั้น แต่อยู่ที่ไหนๆ ก็สามารถพิจารณาด้วย สติปัฏฐานได้ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น