วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

55-4-7 บันทึกย่อพ่อเทศน์ ผ่าตัดโอปปาติกสัตว์ ๖


‎"ผ่าตัดความเป็นโอปปาติกสัตว์ ตอนที่ ๖"
บันทึกย่อพ่อเทศน์ ปลุกเสกฯ ๓๖ FMTV บ้านราชฯ 
เสาร์ที่ ๗ เม.ย. ๒๕๕๕ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง เริ่มเวลา 04:05 น.
บันทึกย่อโดย ใจแปลง สู่แดนธรรม
ที่มา :     http://www.facebook.com/groups/188545584512043/permalink/380809948618938/ 


เชิญคลิกฟังคลิป "ผ่าตัดความเป็นโอปปาติกสัตว์ ตอนที่ ๖"

1. พ่อท.บรรยายต่อเลยไม่ต้องมีอารัมภบทใดๆ คนเกิดมาด้วยอะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกิดมาด้วยอวิชชาความโง่ พ่อท่านว่าคนเหล่านั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ !! (ผู้ชมงง) ก็คือซื่อสัตย์ต่อความโง่ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมะ เขาก็จะวนอยู่ในความซื่อสัตย์อย่างนั้นแหละ จะต้องศึกษาธรรมะละกิเลส โดยหัดจับและฝึกอ่านอารมณ์ตนเองให้เป็น เป็นการสร้างญาณรู้จิตตนเอง รู้จักเหตุแท้ที่มันทำให้จิตไม่สงบ การทำให้จิตสงบได้นั้นคือทำจิตให้เป็นสมณะ (ไม่ใช่ต้องมาบวชเป็นสมณะก่อน แล้วจึงจะมีใจสงบหรอกนะ แต่หมายถึงใครก็ได้ที่ทำใจในใจเป็น แล้วมีผลจริงคือมีใจสงบจากเหตุได้แท้ๆ /ผู้บันทึก) 

2. ผู้รู้จักความสงบอย่างชัดเจน(เป็นปรมัตถ์) คือรู้จักระงับตัณหาอันเป็นเหตุ ขจัดเหตุจนไม่มีอำนาจบงการแล้ว คนผู้นั้นก็ยังมีกายกรรม กายก็คือองค์ประชุมที่ครบพร้อมไปด้วยสิ่งต่างๆ หากยังมีกิเลสมาประชุมด้วย กายนั้นก็มีพฤติกรรมที่ไม่สงบ แม้จะนั่งนิ่งๆ เฉยๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นความสงบ ดังนั้นผู้สงบแล้วจึงต้องดูกันที่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีใจวิเวกที่ปราศจากกิเลสสั่งการ (มีแต่สติ-ปัญญาสั่งการให้เกิดการกระทำที่ดี) 

3. พระอนาคามีท่านก็มีหลักประกันดีแล้วว่า ไม่ทำบาปภัยกับใครภายนอกแล้ว จะมีก็แต่ภัยและความทุกข์ยากภายในของท่านเองเท่านั้น คำว่ากาย หรือกรรม หรือทิฐิ และธรรม ก็เป็นคำกลางๆ ที่ยังไม่ได้ระบุลงไปว่าหมายถึงชั่วหรือดีเลย แต่พอเอ่ยว่ากาย เราก็มักจะหมายถึงกายข้างนอกที่เห็นเป็นรูปร่างก่อน ฯลฯ เดี๋ยวนี้มองไปในสังคมไทยก็เห็นแต่คนโง่อวิชชา ที่กำลังนำพาสร้างทุกข์ภัยให้เกิดในบ้านเมืองอยู่

4. ผู้รู้จักทำความสงบในจิตแล้ว จึงรู้จักทำกายภายนอก ให้มีองค์ประชุมข้างนอกไม่ให้มีภัย ไม่ให้มีบริบทเป็นบาป กายภายในเราก็มีญาณอ่านรู้ของเรา พ่อท่านจะอธิบายกายนอก-กายใน ให้ชัดๆ คือ ขันธ์๕ ย่อมรู้จักการมี"รูป"ก่อน เมื่อพูดว่ารูปก็มักจะหมายเอากายภายนอกก่อน หรือรู้กรรมกิริยาที่แสดงออกมาให้เห็นภายนอกก่อน ส่วนกายภายในนั้นเราจะมีญาณอ่านรู้ว่า ใจเรามีสัตว์อะไรไปมีพฤติกรรมร่วมด้วยหรือไม่ เราจะรู้ได้ก็ต้องมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปร่วมรู้ภายนอกด้วยเช่นกัน ส่วนรูปในหรือกายในกายก็เป็นการนำรูปนอก(มหาภูตรูป)นั้น เชื่อมต่อเลื่อนไหลเข้าไปประชุมเป็นอุปาทายรูปอยู่ภายในใจ

5. วิญญาณก็เกิดได้จากขันธ์ ๓ คือ เวทนา สัญญา สังขาร ใช้สัญญาอ่านกำหนดหมายในความรู้สึก(เวทนา) มีเวทนาเกิดความรู้สึกที่เกิดเกี่ยวข้องกับผัสสะภายนอกแล้ว ก็มีองค์ประชุม(กาย)ของเวทนา เป็นกายในกายของเวทนา งงไหม ? … เมื่อกำหนดรู้แล้ว อวิชชามีสังขารต่อมา คนที่มีอวิชชาจึงมักจะปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เช่น กระเทยที่มักจะประดิดประดอยท่าทางอยู่เสมอ คือพวกหลงกายนอก ... พวกคุณฝึกไปเถอะ อาตมาเป็นโพธิสัตว์ได้ฝึกมาแล้ว พ่อท่านเคยอ่านอรรถกาถาจารย์มา ก็ไม่เคยเห็นท่านใดที่จะมาอธิบายขันธ์ ๕ แบบนี้เลย (คือแบบที่มีปริวรรตเชิงซ้อน ทบกันขึ้นหลายๆ รอบ)

6. ความสำเร็จทุกอย่างนั้น ใจต้องมาก่อน(มโนปุพพัง) ใจมาเป็นทุกอย่าง(คมาธัมมา) จะเจริญทุกอย่าง(แม้แต่เจริญด้วยเศรษฐศาสตร์) ก็เจริญสำเร็จได้เพราะใจ(มโนเสฏฐา มโนมยา) พ่อท่านพูดถึงศิลปะนามธรรมที่กายนอกดูเป็นมนุษย์ แต่หัวนั้นเป็นสัตว์มีเขาควาย มีเขี้ยวเสือ มีปากเห่าเหมือนหมา คนเรามีพฤติกรรมที่เคลื่อนไปอยู่เสมอ ไม่ใช่จะให้ไปอยู่นิ่งๆ แม้แต่นอนนิ่งคุณก็ยังไม่นิ่งเลย กรรมภายนอกเป็นไปกับอายตนะ ๑๐ เป็นไปกับผัสสะกระทบให้เกิดความรู้สึก ท่านอาจารย์อื่นก็สอนให้รู้เวทนาเหมือนกัน แต่ท่านจะจับความต่อเนื่องไหมล่ะ เช่น ผัสสะกระทบแล้วเกิดเวทนามีความเป็นสัตว์

7. เราจึงเรียนรู้เหตุที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์ ทุกอิริยาบถจะเกิดอายตนะเชื่อมให้รู้เวทนา รู้เหตุของเชื้อสัตว์ เกิดบทบาทของตัณหา ที่มันเพิ่มขึ้นออกมาจากอวิชชา สังขาร เวทนา (เรากำลังเรียนบริบทที่กว้างขึ้นไปหาตัณหา) ... สัตว์แบบลิงถือกล้วยนั้นก็คือ วิญญาณสัตว์ที่ชอบหลอกด้วยลีลา เราต้องทำให้มันแพ้ด้วยไฟฌาน ให้สัตว์ร้ายคือตัณหาเชิงราคะ ตัณหาเชิงโทสะนี้แหละ ถูกกำจัดแผดเผาให้วิญญาณสัตว์ตายไป

8. ล้างตัณหาฆ่าสัตว์ในตัณหาให้ได้เถิด ตัวอื่นๆที่ตามมาเช่น อุปาทาน ภพ ชาติ มันก็จะดับเอง นี้คือการดับเหตุของความไม่สงบ พอดับได้จึงมีความสงบเป็นความตั้งมั่น ตกผลึก ควบแน่น เป็นสมาธิแบบพุทธ ไม่ใช่สมาธิแบบฤาษีที่เอาแต่หยุด สงบนิ่ง ... เขาก็ตู่กันไป ตู่กันมา ก็เลยได้พร ๔ (คนฟังงงว่าคืออะไร) พร ๔ ก็คือ จตุพร ไง ตู่กันไป ตู่กันมา (คนฮากับมุกนี้ของพ่อท่าน) ...

9. พ่อท่านสอนโดยอ่านต่อ ให้รู้จักองค์ธรรม ๖ ประการของสัมมาทิฏฐิที่เจริญทดรอบขึ้นสูงแล้ว จะไม่ใช่สัมมาทิฏฐิตัวแรกของมรรค๘ กันแล้วนะ แต่เจริญขึ้นไปสู่ความไม่มีอาสวะ เพราะได้ผ่านการปฏิบัติมรรคทั้ง ๗ มามากแล้วด้วยทิฐิ วายามะ สติ เป็นตัวช่วยห้อมล้อม จนกระทั่งสัมมาทิฏฐิตัวนี้กลายเป็นปัญญา เพิ่มพลังขึ้นเป็นปัญญินทรีย์ และมีพลังสูงขึ้นเป็นปัญญาผล

10. เพราะรู้ตัวทั่วพร้อมในการปฏิบัติมาตั้งแต่ สติ เกิดต่อเนื่องเข้าไปเป็น“สัมปชัญญญะ” (จึงตรงข้ามกับคำสอนแบบมิจฉาสมาธิ ที่สอนว่ามีสติแค่รู้ก็พอ อย่าไปจัดการปรุงแต่งอะไรกับการรู้นั้น เมื่อรู้แล้วก็ตัด รู้แล้วก็นิ่งเฉย รู้ นิ่ง เฉย /ผู้บันทึก) เมื่อมีสติรู้ตัว มีสัมปชัญญะระลึกได้แล้วจึงมีความรู้ตัวในการปฏิบัติจำแนกวิจัย แบบ “สัมปชานะ” คือรู้ในการแยกแยะเอาเฉพาะอกุศลเตรียมส่งไปให้ขจัด เมื่อคุณกำลังทำการกำจัดอยู่ ประหารอยู่ ก็จะมีความรู้ตัวแบบ“สัมปัชชติ” คือกำลังแผดเผาด้วยไฟ เมื่อมีการแผดเผาแล้วจึงจะมี “สัมปัชชลติ” คือเกิดการโหมไหม้ มีความสว่างเรืองรอง

11. อรหันต์ หรือ อรหะ ... คำว่าปรโลก เขาพูดสแลงกันว่า ให้ไปสู่ที่ชอบๆ ซึ่งก็คือ ได้ชอบในการกระทำความตายให้แก่ตัวเอง คือทำสัตว์ในวิญญาณให้ตาย จึงได้เข้าสู่ปรโลก ทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณให้บริสุทธิ์แล้ว แม้ขันธ์ปราศจากกิเลสสะอาดดีแล้วก็ยังต้องมีภาระได้อยู่ คือ หางานการทำให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ เพราะรู้จักโลก รู้จักสังคม รู้จักงาน ทำกรรมทุกกรรมไปตามการกำหนดรู้

12. พ่อท่านอ่านธรรมะที่ควรกำหนดรู้ ๑๐ อย่าง อย่างที่๑๐คือ อายตนะ๑๐ พ่อท่านสอนให้รู้จักหน้าที่ของอายตนะ เป็นตัวเชื่อมต่อให้รู้ระหว่างผัสสะทางกายทั้ง ๕ ทวาร ให้ไปรู้เวทนา รู้แม้กระทั่งเวทนาที่ดับนิโรธได้แล้วอีกด้วย ... “ฤาษีไม่รับเพราะรู้จึงอยู่กับการมี” ส่วนของเรานั้นรับรู้แล้วก็ขออาศัยการมีอยู่ ไปเพื่อการทำคุณค่า ทำประโยชน์ เป็นกรรมกร กุสโล ที่ฉลาดรู้จักการทำการงาน (พ่อท่านวิจัยวิจารณ์ท่านกุสโล)

13. พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นปริยายว่า วิญญาณอาศัยปัจจัยให้เกิดขึ้น เว้นจากปัจจัยแล้ววิญญาณเกิดขึ้นไม่ได้ วิญญาณที่ไปล่องลอย ท่องเที่ยวอยู่แบบที่สาติภิกษุเข้าใจนั้น มันเป็นเทวนิยมที่ไม่สามารถเอาประโยชน์ได้เลย พ่อท่านพูดถึงอาจารย์พร รัตนะสุวรรณ ที่หลงใหลในวิญญาณโอปปาติกะที่ล่องลอยไปมา ... พ่อท่านสอนให้รู้จักปัจจัยที่ทำให้เกิดวิญญาณนั้น ก็คือ ผัสสะ ทำให้สัตว์วิญญาณเกิด และสัตว์มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะอาหาร ๔

14. อายตนะ ๑๒ นั้น ให้เรียนรู้ “กายนอก” ไปกับอายตนะ ๑๐ ส่วนกายในนั้น เรียนจาก อายตนะ๒ แล้วทำการดับวิญญาณสัตว์ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: