วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

55-4-9 บันทึกย่อพ่อเทศน์ เรียนอิสระฯ

ตอน.. "เรียนอิสระตามสำนึก ครั้งที่ ๙"
บันทึกย่อพ่อเทศน์ เรียนอิสระฯ FMTV บ้านราชฯ 
จั. ๙ เม.ย. ๒๕๕๕ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง เริ่มเวลา 18:05 น.


บันทึกย่อโดย ใจแปลง สู่แดนธรรม
ที่มา :    http://www.facebook.com/groups/188545584512043/permalink/382766625089937/ 




          1. พ่อท่านจัดรายการร่วมกับ อ.กฤษฎา (ซึ่งวันนี้มีงานศพนางหนูนาง ทองศรี ร่วมอีกด้วย อายุ ๘๑ ปี ป่วยเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เสียเมื่อเวลา ๒๑.๔๗ น. วานนี้) อ.ถามถึงการจัดงานตลาดอาริยะ ซึ่งอย่างไรจึงมีคนอาริยะมาจัดงานอาริยะอย่างนี้ได้ พ่อท่านตอบว่า คนอาริยะก็คือคนที่ยอมเสียสละ ยอมขาดทุน เป็นคนมีหลักประกันที่ลดกิเลสได้จริง เพราะรู้จักกิเลสแล้วลดละออกได้จริง มีความจริงขั้นเที่ยงแท้ (นิยตะ) ที่ไม่กลับกลายมาเห็นแก่ตัวอีก ส่วนคนดีๆ ที่เป็นกัลยาณชนก็ยังไม่สามารถดับกิเลสตัวต้นเหตุได้จริง บางทีก็หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ก็มี ผู้ที่ทำได้ตามธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงสามารถเรียกร้องให้คนมาดูได้ พิสูจน์ดูได้ เพราะมีหลักประกันนั้นๆ แล้ว คือ จิตไม่มีเหตุคือโลภมูล โทสะมูล อีกแล้ว 

               2. จะรู้จักตัวตนของกิเลสที่แม้ไม่มีรูปร่าง สีสัน ก็รู้ได้จากอาการ(กิริยาของจิต) จากลิงคะ(เพศ-ความแตกต่าง) จากนิมิต(เครื่องหมายของมัน) จนรู้เพราะสัมผัสเห็น(ปัสสะ) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ รู้แจ้ง เห็นจริง ไม่ใช่เห็นแบบคลำๆ งมๆ เครือๆ ... อ.ถามว่า คำว่า เห็นๆๆ เนี่ย เป็นรูปธรรม เช่น จักรยานญี่ปุ่นราคาถูกจริงๆ แล้วเกิดความอยากนี่ใช่การเห็นไหม .. พ่อสอนว่าต้องอ่านจิตออก อาการอยากได้มาเป็นของๆ ตนเนี่ย มันพอรู้ไรๆ มันอยู่ในใจเรา มีสติรู้อาการอยาก รู้อาการโกรธ การเห็นด้วยทิฐิก็ยังไม่ลึกซึ้งกินใจเท่ากับ เห็นอย่าง “ปัสสติ หรือ ปัสสนา” ที่มีผัสสะให้รู้ ให้เห็น (ผัสสะอย่างมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ร่วมกับใจที่เห็นด้วยจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ /ผู้บันทึก) 

               3. พ่อท่านสอน คำว่า “พอ” หรือสันโดษนี้หมายถึง ใจที่รู้จักพอแล้วจริงๆ ไม่ใช่ไปแปลว่าจงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งไม่ถูก เราต้องลดลงจากสิ่งที่มีมากๆ อยากมากๆ กินมากๆ ปากไม่มีวินัย ก็ลดลงมาหัดกินเป็นมื้อเป็นคราว นอกมื้อแล้วจะหยุด ไม่กิน การกำหนดให้หยุดอย่างนี้นี่แหละ จะเห็นกิเลสมันเรียกร้อง เพราะเคยชิน ละลดออกจนมักน้อยได้เป็นปกติ แม้มีไว้น้อยๆ ก็พอ ไม่ต้องมีมาก ไม่ต้องสะสมมาก

                4. พ่อท่านอยากสื่อให้สังคมได้พบกับตัวอย่างของดี ซึ่งมันเหมือนกับการอยากอวด แต่มันก็ไม่ใช่การอวดอย่างคนมีกิเลส ที่เขามีการแลกเปลี่ยนได้สิ่งของกลับคืนมา เราสื่อออกไปเพื่อจะให้ดูความจนอันมหัศจรรย์ ที่จนแต่กลับมีความอุดมสมบูรณ์ซ้อนด้วยเชิงลึกซึ้งให้เห็นอยู่ ... อ.เห็นว่าหนึ่งปีเราก็มาสลัดความรุงรังออกไป 

                5. ชาวอโศกยังอยู่ในระยะแรกที่กำลังตั้งตัว ฐานะยังไม่สมบูรณ์พร้อม ไปด้วย ๑.คนมีคุณ(คือมีอริยะคุณ) ๒.มีบุญค้ำ(บุญคือการประพฤติให้กิเลสลด ทุกวันนี้สอนเรื่องบุญก็เลอะเทอะไปหมดแล้ว) ๓.กิจกรรมมีผลเจริญ คือทุกอย่างมันเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ทุนรอนเราก็จะเหลือ แล้วจะมีแต่ผลเจริญ แต่เราก็ยังมีสละออกอยู่เป็นปกติ ... อ.นึกถึงโรงปุ๋ยบ้านราชมีโรงใหญ่ พ่อท่านว่าโรงปุ๋ยเราขณะนี้ก็ยังไม่ได้อยู่ในขั้น กิจกรรมมีผลเจริญ เพราะยังอยู่ในระยะเงินเกื้อ 

                 6. พ่อท่านเล่าประวัติการเกิดโรงปุ๋ย ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนหรอก เพราะสร้างถนนไปบ้านกุดระงุม จนกระทั่งถมที่ ..เป็นโรงปุ๋ย มีเหตุปัจจัยต่างๆ มาบรรจบครบจนเกิดอาคารมุงขึ้น ... ฯลฯ อ.ถามหลักการสร้างคนและสังคมแบบนี้ให้เกิดขึ้น พ่อท่านว่าทฤษฎีนี้มาจากพระพุทธเจ้า ... สันโดษอย่าไปแปลผิดๆ ว่าปลีกตัวออกจากหมู่นะ แต่สันโดษนี้แหละจะมีเพื่อนมาก แต่ใจนั้นไม่มีเพื่อนสอง คือไม่มีกิเลส ยิ่งกิเลสน้อยลง ใจก็ยิ่งพอ ในที่สุดไม่มีเป็นของตัวของตนเลย ใจก็รู้พอ จิตที่ฝึกดีแล้วก็ย่อมเป็นสุขแม้ไม่มีเลยก็พอ 

                 7. หลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ย่อมมีทิฏฐิขัดแย้งกัน เขาฝึกเคล็ดวิชชากันอย่างไร (พ่อท่านว่าเคล็ดวิชาจะมีให้ฝึกไปตามฐานะ ทุกคนจะรู้ว่ามาที่นี่ต้องมาฝึกตน ไม่เอาตามประโยชน์ตน ความเห็นของคนส่วนใหญ่จะรู้กันว่า มีประโยชน์ไหม ตัวเราเองก็รู้กันว่าควรหรือไม่ควร ต่างก็ขัดเกลากันและกันในที ได้ประโยชน์จากการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ดั่งใจแล้วก็อย่าไปเอาชนะคะคาน หลักสุดท้ายแล้วเรานี่แหละจะต้องมาเสียเปรียบ พูดให้สวยๆ ก็คือ มาเสียสละ คือเสียเปรียบโดยมีปัญญารู้ๆ ว่า มีประโยชน์แก่ส่วนรวมมากมาย แต่อย่าเสียเปรียบให้เขามีกิเลสเพิ่มขึ้นมากมาย 

                  8. อ.ว่า “จงรับด้วยการให้” คือ การรับโดยปราศจาก ... พ่อท่านว่า การทานคือการตั้งจิตที่จะให้ อย่าไปหลงขออานิสงส์กลับคืนมาให้มากกว่าเดิม จนเป็น อโยนิโสมนสิการ คือทำใจไม่เป็น แทนที่จะทำทานแล้วลดกิเลส กลับไปได้กิเลสโลภะมากขึ้น ส่วนผู้รับนั้น จะต้องทำใจในการให้ผู้อื่นได้ได้แสดงความดีงาม จนสำเร็จ อย่างน้อยต่อไปก็จะมีการแสดงความกตัญญูตอบท่าน ให้ได้ความเจริญอย่างท่านที่มีการให้ โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทนเช่นท่านนั้น 

                  9. พูดถึงธุดงค์เดินย่ำกลีบกุหลาบอีกครั้ง ผิดศีลข้อ ๗ มีการออกแบบให้มีการแสดงท่าทางให้ผู้อื่นนิยมชมชอบ โน้มน้อมให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งหลงใหลในฐานะแห่ง การตกแต่งเฟ้อเกินไป ใน นัจจะ คีตะ วาทิตะ ถูกครอบงำให้คนตกอยู่ในภพนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าดู ไม่น่าเห็น (วิสูกทัสสนา วิภูสนัฏฐานา) ไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็นข้าศึกต่อ"กุศล" ไม่ได้สร้างกุศลแก่สังคมแต่อย่างใดเลย อ.ว่า เป็นสิ่งตรงกันข้าม 180 องศากับความเป็นบุญนิยม(มักน้อยฯลฯ)ของอโศก 

               10. ความแตกต่างของโลกสองโลก คือ โลกนี้ กับ ปรโลก ที่เอาจิตวิญญาณเป็นเครื่องตัดสิน เทวะเขาก็ตัดสินว่าวิญญาณแบบหลังความตาย มีตัวตนล่องลอยไปมา แต่ของพุทธนั้นปรโลกหมายถึง การรู้จักวิญญาณเราเองในขณะเป็นๆ ยังไม่ตาย แต่รู้จักจับอาการมาลดละ ทำให้จิตเดินทางเข้ากระแสโสดาบันไปเรื่อยๆ อ่านจิตเป็น คือ รู้สึกเป็นยังไงกับเวทนา ๑๘ ที่สัมผัสกับผัสสะต่างๆ 

                11. อ.ว่าถึง กสิกรรมตามสวนต่างๆ ของบ้านราช และแม้งานโรงครัวก็จะเห็นมิติที่จะเกิดการกระทบกระทั่ง ทำให้ได้ลดความรุงรังออกไป (พ่อท่านว่า กายกริยาต่างๆ นั้นล้วนออกมาจากใจ จิตเองก็มีตัวดำรินึกคิด ที่สั่งการออกมาจะให้ปรุงแต่งเป็นการงาน เป็นอาชีพก็ตาม มันก็มีเพียงความคิดสังกัปปะสามคือ ราคะ พยาบาท และเบียดเบียน เมื่อมันร่วมปรุง คุณก็จงอ่านมันให้ทัน สกัดกั้นกิเลสแล้วทำลายกำจัดมันลงไปให้ได้ อย่าให้มันออกมาปรุงแต่งร่วมด้วยกับคำพูดและการกระทำ นี้คือเกิดสมาธิตั้งมั่นที่เกิดจากมรรคมีองค์ ๘ ทุกวันนี้ท่านผู้รู้กลับไม่เอาถ่านกันเลย ไปสอนแต่สมาธิหลับตาจนได้มิจฉาสมาธิ ฯลฯ 

               12. การตัดความกังวล โดยไม่ต้องเสียพลังงานไปคิดหวังเอาผลตอบแทนกลับคืนมา การคิดบำเรออะไรๆ ให้ใจมันสปาร์ค จนสมความโลภ สมความพยาบาท จึงสูญเสียพลังงานกับการสปาร์คไปเยอะมาก ดังนั้นผู้มาปฏิบัติธรรมเมื่อไม่เสียพลังงานเปล่าดายไปกับการสปาร์ค จึงมีพลังเหลือเฟือในการใช้สร้างสรรค์ ... ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าเมื่อปฏิบัติดีด้วยสัมมาทิฐิแล้ว จะไม่มีการครอบงำทางความคิดกันแบบ อยากให้คนมานิยมนับถือ หรือล่อลวงให้คนมาเป็นบริวาร ฯลฯ เลย

               13. อัตราการก้าวหน้าในการเติบโตของหมู่กลุ่มชาวอโศก มีการเตรียมการไว้บ้างไหม พ่อท่านว่าไม่เคยมีแผนล่วงหน้า ทุกอย่างจะทำไปตามเหตุปัจจัย มีวิสัยทัศน์ไม่ไกล ดูกันใกล้ๆ แล้วก็ประเมินเอาจากระยะปัจจุบันนี้เลย ... แม้การเกิดสามอาชีพกู้ชาติ กสิกรรมธรรมชาติ ปุ๋ยสะอาด ขยะวิทยา ก็มองเฉพาะเหตุปัจจัยพาเกิด ไม่มองไปที่ทุนเป็นหลัก แต่มองที่มีคนพร้อมเป็นหลัก 

               14. มีเครือข่ายชาวอโศกเกิดขึ้น มีบุญญาวุธด้านต่างๆ ออกมาทีละวิทยาการ เช่น อาหารมังวิรัติ การค้าขายบุญนิยม กสิกรรมบุญนิยม สุขภาพบุญนิยม การศึกษาบุญนิยม สื่อสารบุญนิยม การเมืองบุญนิยม ก็ล้วนแต่มีคนและมีบุญกุศลที่ถึงพร้อมต่อการเกิดขึ้น เป็นไปจริงตามเหตุปัจจัยที่มี


ไม่มีความคิดเห็น: